วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมา วิวัฒนาการของโน้ตดนตรี

ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของโน้ตดนตรี
            การบันทึกดนตรีด้วยระบบโน้ตตะวันตกอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน เริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องหมายในภาษากรีกโบราณ โดยมีใช้กันหลายระบบ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญมากและน่าศึกษาก็คือ ระบบนูมาติก (Neumatic Notation)

ระบบนูมาติก (Neumatic Notation)
 
          ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 มีผู้พยายามคิดระบบการบันทึกดนตรีมาใช้หลายระบบ แต่ส่วนมากก็ไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 9 ระบบนูมาติกเริ่มมีการใช้อย่างจริงจัง โดยพัฒนาการและองค์ประกอบของระบบนูมาติก มีดังนี้
          นูมส์ (Neumes) เป็นสัญลักษณ์แสดงทิศทางของเสียง โดยใช้สัญลักษณ์ทางไวยากรณ์ภาษาของกรีกและโรมัน 2 สัญลักษณ์ คือ เสียงสูงขึ้นใช้สัญลักษณ์  /  (actus) และเสียงต่ำลงใช้สัญลักษณ์  \  (gravis) ซึ่งไม่บ่งบอกถึงระดับเสียงและจังหวะ ซึ่งต่อมามีการพัฒนาให้เห็นเค้าของแนวทำนอง แต่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องระดับเสียง ขั้นคู่เสียง และอัตราจังหวะ ในศตวรรษที่ 10 เริ่มมีการกำหนดระดับเสียงให้แน่นอน โดยการใช้สตาฟฟ์ (Staff Notation) ในตอนเริ่มแรกมีเพียงเส้นเดียว ใช้แสดงว่านูมส์บนเส้นนี้มีระดับเสียง F นูมส์ที่อยู่เหนือหรือใต้เส้นนี้จะสูงกว่าหรือต่ำกว่า F มากน้อยขึ้นอยู่กับระยะห่างจากเส้น ต่อมาไม่นานนัก จำนวนเส้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เส้น ใช้สีต่างกัน เส้นบนเป็นเส้นสีแดง คือตำแหน่งของ C
           ต่อมาในศตวรรษที่ 11 กีโด เดอ อเรซ์โซ (Guido de’ Arezzo) ซึ่งเป็นบาทหลวงชาวอิตาเลียน เพิ่มเส้นในสตาฟฟ์ขึ้นเป็น 4 เส้น และใช้บันทึกเพลงสวดเกรกอเรียนชานท์อย่างแพร่หลาย ต่อมาจำนวนเส้นถูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 11 เส้น แล้วแบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยใช้เส้นกลาง (เส้นที่ 6 ) เป็นเกณฑ์แบ่ง พัฒนาการขั้นนี้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 จากนั้นมาสตาฟฟ์ที่มี 5 เส้น จึงเป็นมาตรฐานมาโดยตลอด